เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 5. กสิณสูตร
5. กสิณสูตร
ว่าด้วยบ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์1
[25] ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการนี้
บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณ(กสิณคือดิน)เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
2. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ(กสิณคือน้ำ) ...
3. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ(กสิณคือไฟ) ...
4. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ(กสิณคือลม) ...
5. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ(กสิณคือสีเขียว) ...
6. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ(กสิณคือสีเหลือง) ...
7. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ(กสิณคือสีแดง) ...
8. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ(กสิณคือสีขาว) ...
9. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ(กสิณคือที่ว่างเปล่า) ...
10. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณ(กสิณคือวิญญาณ)เบื้องบน เบื้องต่ำ
เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการ นี้แล
กสิณสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ หมายถึงที่เกิดหรือที่เป็นไปแห่งธรรมทั้งหลายโดยบริกรรมกสิณ
เป็นอารมณ์ คำว่า กสิณ หมายถึงวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงใจให้เป็นสมาธิทั้งหมดหรือสิ้นเชิง กล่าวคือ
วัตถุสำหรับแผ่ไปไม่เหลือ ไม่ปักใจอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานเพียงอารมณ์เดียว (องฺ.ทสก.อ. 3/25/333,
องฺ.ทสก.ฏีกา 3/25/395)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :56 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 6. กาลีสูตร
6. กาลีสูตร
ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อกาลี
[26] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ปวัตตบรรพต เขตกรุงกุรรฆระ
แคว้นอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล อุบาสิกาชื่อกาลีชาวกรุงกุรรฆระ เข้าไปหาท่านพระ
มหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ในกุมารีปัญหา1ว่า
การบรรลุประโยชน์2 เป็นความสงบแห่งหทัย
เราชนะเสนา3 ที่มีรูปเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจแล้ว
เป็นผู้เดียวเพ่งอยู่ ได้ตรัสรู้ความสุขโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ต้องอ้างบุคคลเป็นพยาน
การอ้างอิงใคร ๆ เป็นพยานจึงไม่มีสำหรับเรา
ท่านเจ้าข้า เนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ จะพึง
เห็นได้โดยพิสดาร อย่างไรหนอ
ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า น้องหญิง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งทำประโยชน์
ชั้นยอด คือสมาบัติ4ที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรง
รู้ประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์นั้นแล้วได้ทรงเห็นเบื้องต้น5...
โทษ6... ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก7... มัคคามัคคญาณทัสสนะ8 เพราะเหตุที่ทรง
เห็นเบื้องต้น โทษ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก และมัคคามัคคญาณทัสสนะ การบรรลุ
ประโยชน์จึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าเป็นความสงบแห่งหทัย

เชิงอรรถ :
1 กุมารีปัญหา หมายถึงคำถามของธิดามาร ปรากฏในมารธีตุสูตร (สํ.ส. 15/161/152)
2 ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)
3 เสนา ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)
4 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 21 (สีหนาทสูตร) หน้า 45 ในเล่มนี้
5 เบื้องต้น หมายถึงสมุทัยสัจ (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)
6 โทษ หมายถึงทุกขสัจ (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)
7 ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก หมายถึงนิโรธสัจ (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)
8 มัคคามัคคญาณทัสสนะ หมายถึงมัคคสัจ ได้แก่อริยมรรคมีองค์ 8 (องฺ.ทสก.อ. 3/26/334)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :57 }